บนเส้นทางแห่งความฝัน

บนเส้นทางแห่งความฝัน ก้าวไกลและไปให้ถึง ! อ.เด่น – ชาญชัย อินทนาม

ไม่ใช่เรื่องง่าย บนเส้นทางอาชีพ ของช่างผม ซึ่งแต่ละคน ย่อมผ่านประสบการณ์ ผ่านการใช้ชีวิตมาอย่างยากลำบาก กว่าจะถึงจุดหนึ่งของชีวิต ที่มั่นคงมากขึ้น “อ.เด่น ชาญชัย” ก็เช่นเดียวกัน เขาผ่านเส้นทางงานสายอาชีพมาแล้วมากมาย เคยแม้แต่ตายแล้วฟื้น เพื่อได้ตื่นมาใช้ชีวิต จนถึงทุกวันนี้ ที่เขาได้ก้าวขึ้นมาเป็นช่างผมมืออาชีพที่หลายคนรู้จัก และเป็นอาจารย์ของลูกศิษย์อีกหลายร้อยคน อย่างที่อาจารย์กล่าวไว้ว่า ขอให้ก้าวไกล และไปให้ถึง ความฝันก็ไม่ไกลเกินเอื้อมเสมอ !

สนับสนุนโดย ปัตต่าเลี่ยน Gamma+
ฝากกดติดตามเพจใหม่ด้วยครับ
https://www.facebook.com/hairtoday.online/

อ.เด่น – ชาญชัย อินทนาม

Profile :

ชื่อ                ชาญชัย  อินทนาม

ชื่อเล่น             เด่น

วันเกิด             อาทิตย์

อายุ                 42 ปี

ภูมิลำเนา          จังหวัดยโสธร

การศึกษา         ม. 6 กศน.

ร้านตัดผม        กรรไกรเงิน บางใหญ่

คติประจำใจ     ตัดหล่อทุกคน แต่ถ้าสอนขึ้นทรงให้ได้จบงานให้เป็น การเรียน

“ผมเป็นคนเรียนเรื่อยๆ นะ ตอนที่ผมเรียน ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ระหว่างนั้นทำหลายอย่างมากนะ ทั้งช่างไฟ ช่างยนต์ ช่างสี ประสบการณ์ช่วงนั้น ก็ค่อนข้างหนัก แต่ก็ได้มาหลายอย่างมากเหมือนกัน แต่ที่พลิกผันคือตอนทำช่างกลึง เราเป็นคนไม่สูบบุหรี แต่ไปเจอเพื่อน ๆ สูบบุหรี่กัน ซึ่งผมเป็นคนเหม็นบุหรี่มาก เรื่องงานดูไม่หนักเลยนะ แต่เราไม่ไหวตรงที่ต้องมาเจอกลิ่นบุหรี่ทุกวัน ก็เลยตัดสินใจหยุดงานนั้น แล้วหันมาตัดผมแทน”

ช่วงที่ตัดสินใจมาเป็นช่างผม มีแรงบันดาลใจอะไรมั้ย

“จริงๆ พื้นฐานเราก็มีความชอบอยู่ก่อนด้วย กับอีกอย่างคือเรารู้สึกว่า งานช่างผมก็สบายดีตรงทำงานในห้องแอร์ นอกจากไม่ร้อนแล้ว เราก็ไม่ต้องเจอกับกลิ่นเหม็นของบุหรี่ด้วยแบบนี้ครับ ผมก็ตัดสินใจไปเป็นช่างในร้าน เพราะผมก็เรียนมาแทบทุกช่างนะ สายอาชีพ ผมเรียนทุกสายอาชีพ ช่างไฟก็สามารถรับเหมาได้ สีก็ทำสีได้ แต่ช่างกลึงโรงงานนี่ล่ะ ที่ไม่ไหวจริงๆ ช่างผมก็เรียนมา เพียงแต่เราอาจจะไม่เก่งมากตอนนั้น เราก็ต้องไปศึกษาเอาจากการตัดผมจริง ในร้านจริงๆ มีพี่ๆ ที่ร้านคอยแนะนำด้วย เราก็ตัดไปเรื่อยๆ จนเราชำนาญขึ้นประมาณนี้ครับ”

ประสบการณ์ที่ได้จากการตัดผม

“ช่วงเป็นลูกน้อง เราอาจจะรู้สึกกดดันหน่อย เพราะตอนที่เราไม่ได้ทำงานที่ร้าน เราก็ไปตัดตามหน่วย ตัดตามชุมชน เหมือนเราไปตัดผมฟรี เพื่อให้เราได้ประสบการณ์งาน แต่เราตัดที่ร้าน เราตัดเอาตังค์เขา ลูกค้าจะละเอียดขึ้น เราก็ต้องดูแลลูกค้า พิถีพิถัน ทำอะไรละเอียดรอบคอบ ความยากช่วงแรกๆ เราเริ่มใหม่ๆ เราไม่เข้าใจเส้นผม ไม่เข้าใจศีรษะ คล้ายๆ กับเราวิเคราะห์เส้นผมไม่ออก ใช้เวลาพอสมควรเหมือนกัน”

นานแค่ไหน กว่าที่เราจะออกมาเปิดร้านของตัวเอง

“ผมเป็นลูกน้องเขาอยู่ประมาณปี หรือปีกว่าๆ นะ พอเรามั่นใจ เราก็ออกมา แต่เรื่องทำเล ผมขอแค่แหล่งชุมชนเป็นหลัก ใกล้ตลาด ใกล้โรงเรียน พอดีมีร้านที่เขาเซ้งร้าน เราก็ไปเซ้งต่อจากเขา เพราะมีฐานลูกค้าเก่าอยู่แล้ว เราไปสร้างฐานต่อของเรา คล้ายๆ กับว่า เราก็จะได้ทั้งลูกค้าเก่า และสร้างฐานลูกค้าใหม่ เก่าไป ใหม่มา แบบนี้ แต่ถ้าเราไปสร้างใหม่เลย เราเหมือนนับ 1 ใหม่หมด ก็ดูจะยากกว่า”

ชื่อร้าน “บันไดเงิน” ก็ดั้งเดิมเลย

“ใช่ครับ ชื่อร้าน บันไดเงิน ก็ไม่ได้เปลี่ยน เป็นร้านเก่าแก่ เราก็ใช้มาตามนั้นเอง ได้แต่ปรับเปลี่ยนเป็นแนวทางของเรา ปรับราคาขึ้น ก่อนนั้น 80 เราก็เพิ่มเป็น 100 แต่สร้างจุดขาย แนววินเทจให้มากชึ้น แล้วผมก็มั่นใจในฝีมือของผม เราใช้วิธีสร้างมิตรภาพ ไม่ใช่แค่ลูกค้ามาตัดผม จ่ายตังค์ แล้วก็จบ กลับบ้าน แต่ผมจะคิดว่าลูกค้าเหมือนญาติพี่น้อง เหมือนเพื่อน พูดคุย ดูแล ให้ความสนิทสนมคุ้นเคย เพื่อที่เขาจะได้ประทับใจและกลับมาตัดผมกับเราอีก เป็นพี่เป็นน้องกัน เราก็สบายใจทั้งสองฝ่าย”

นานแค่ไหนกว่าร้านจะอยู่ตัว

“ผมมองว่าแนววินเทจเข้ามาตอนเปิดตลาดรถไฟ เราตัดผมได้เงินมากขึ้น เราก็เน้นแนววินเทจไปเลย ก็ใช้เวลาไม่นาน เพราะเราถนัดอยู่แล้ว แต่ผมจะไม่ค่อยหยุดนิ่ง ไปประกวด ว่าคนไหนเก่ง ก็ติดตาม ที่ไหนมีแข่ง ผมไปแทบทุกสนามแข่งเลยนะ”

ที่ประทับใจมากสุด

“ที่เซ็นทรัลลาดพร้าว เป็นถ้วยพระราชทาน ปี 2517 นานแล้วนะ แต่ตอนนั้นผมก็ยังไม่ได้รางวัลใหญ่นะ เดินต่อแถวกันไปรับใบประกาศ ประมาณสามคนสุดท้าย ได้ถ้วยมา แต่ยังไม่ถึงได้ตำแหน่งแชมป์ เราก็จะไปประกวดประมาณนี้ ตามเวทีใหญ่ๆ มาเรื่อยๆ”

ช่วงโควิด กระทบอะไรมากมั้ยคะ

“ปีแรกเลย ร้านผมปิดไปสองสามเดือนนะ ไปอยู่บ้านนอกเลย เพราะรอบแรกคือค่อนข้างหนักมากนะ กลัวกันไปหมดตอนนั้น ผมก็กลับไปอยู่บ้านนอก ปิดร้านไปยาวเลย พอกลับมารอบสอง ก็ไม่ปิดแล้ว แต่ปรับวิธีการตัดผมเอา เรามีเบอร์ลูกค้า มีลูกค้าติดต่อมา ก็ออกไปตัดนอกสถานที่กันเลย แต่ในส่วนของร้านก็กลับมาทำความสะอาด ทางเทศบาลบางใหญ่ก็จะมาพ่นยาฉีดพ่นอะไรให้ในชุมชนแบบนี้ แต่การบริการตัดผมตามบ้านก็ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ทำให้ธุรกิจเรากลับมาเริ่มปกติได้อีกครั้งนะ”

เรื่องในวัยเด็ก เหมือนอาจารย์จะเคยตายแล้วฟื้นด้วย นานมั้ยคะ

“หลายวันอยู่นะ แต่คือตอนนั้นผมก็ยังเด็กมาก แต่ผู้ใหญ่ก็เล่าให้ฟังว่า ผมเป็นปอดบวมนะ แล้วก็เสียชีวิต หลายวันเหมือนกัน ไม่รู้ยังไงฟื้นขึ้นมาได้ เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ คนที่ไปรับผมมาจากโรงพยาบาลก็เพิ่งเสียชีวิตไป ตอนนั้นผมประมาณขวบสองขวบเองนะ โชคดีที่เขาไม่ทิ้งผมไว้ที่โรงพยาบาลนะ มันทำให้เราเหมือนมีชีวิตใหม่ เขาก็ว่ามีคนถามว่าผมหายไปไหนมานานจัง ผมก็บอกไปซื้อเสื้อใหม่มา แต่จริงๆ เราจำไม่ได้แล้วนะ”

ย้อนกลับมา ปัจจุบันมีการพัฒนางานด้านทรงผม หรือร้านของเราอย่างไรบ้างคะ

“จริงๆ แล้ว ผมก็ยังอยากทำอะไรอีกหลายอย่างนะ อยากเปิดครบวงจร มีแบบซาลอนเข้ามาด้วย แต่เราก็ยังไม่มีเวลามากพอที่จะไปศึกษาเพิ่มเติม ตอนนี้ก็ได้แต่พัฒนาฝีมือแนววินเทจของเราไปก่อน เพราะงานค่อนข้างเยอะมาก หลายอย่าง ถ้ามีแนวทางก็จะทำแนวผมหญิง ซาลอนด้วยครับ”

ด้านการสอนของอาจารย์ละคะ

“ผมก็สอนในร้าน ที่ชั้น 3 เป็นการสอนให้เด็กๆ ที่สนใจอยากเรียน เพราะเรามีอุปกรณ์ในร้านต่างๆ ค่อนข้างครบถ้วน ก็สอนคนที่ตั้งใจจะเรียนจริงๆ เคยมีพ่อแม่ที่อยากให้ลูกมีวิชาติดตัว เอาตังค์มาให้เรา โดยที่ไม่ได้ถามลูกเลยว่า เขาอยากเรียนหรือเปล่า เหมือนเราเลี้ยงลูกแทนเขาเลย คือเช้ามาต้องคอยโทร.ตามให้มาเรียน แบบนี้ผมว่าเด็กจะไม่ได้อะไร แต่ถ้าคนที่สนใจ อยากเรียนรู้จริงๆ เขาจะรีบมาให้ตรงเวลา เพื่อที่พอเรียนครบหลักสูตร เราก็พาออกไปตัดตามหน่วย ปฏิบัติงานจริง เป็นอาชีพของเขาเองได้ครับ ตอนนี้ผมเลยต้องกำชับมากให้ถามเด็กก่อนว่าอยากเรียนจริงมั้ย เด็กก็จะได้ไม่กดดัน”

งานแอดมินเพจ

“เป็นเกี่ยวกับงานช่างผม ในการพูดคุย ปรึกษางานกัน แต่ผมจะไม่ได้ลงลึกขนาด หาลูกค้า หรือหานักเรียนในการไปลงตรงจุดนั้นนะครับ เป็นแค่เพียงแอดมินในกลุ่มของช่างผมที่อยู่กันเป็นทีม มีเพื่อนสมาชิกที่เป็นช่างผมด้วยกันเข้ามารวมตัวกัน มีอะไรก็ปรึกษากันประมาณนี้ ถ้าเป็นฐานลูกค้าของผมจะปากต่อปากมากกว่า ส่วนนักเรียนของผมจะเป็นลูกค้าที่จุดประกายอยากเรียน ก็มาพูดคุยกัน สอนมาหลายปีครับ ตั้งแต่ปี 59 ปี 60 เรื่อยมาถึงปัจจุบันครับ”

ชีวิตครอบครัวของอาจารย์ล่ะคะ

“ครอบครัว ก็มีลูกสองคน ยังเด็กๆ เรียนอนุบาลอยู่ ผมก็ยังคงทำงานต่อไป เพื่อดูแลครอบครัวเราด้วย และดูแลลูกค้าประจำของที่ร้านแบบนี้”

ยังมีอะไรอีกบ้างที่เป็นความฝันอยากทำ       

“ใจจริงผมยังอยากประกวดให้ได้แชมป์สักครั้งหนึ่งชีวิตนะ แต่อาจเป็นเพราะหลังๆ ผมได้รับเชิญไปเป็นคณะกรรมการค่อนข้างหลายเวที กรรมการเห็นหน้าก็จะรู้ว่าผมเป็นกรรมการ แล้วถ้าเกิดเราไม่ได้แชมป์ขึ้นมา อย่างเราไม่ได้เป็นกรรมการ เราไปแข่งไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่พอมาเป็นกรรมการ เราประกวดไม่ได้ก็จะรู้สึกแปลกๆ นะ ผมก็เลยไม่ได้ไปประกวดทางไหนอีกเลย”

สิ่งที่อาจารย์อยากฝากไว้ถึงเด็กๆ รุ่นหลัง

“สำหรับช่างผมทำผม ผมว่ามันไม่ได้ยาก แต่ก็ไม่ได้ง่าย แต่เป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือ เราต้องอยู่ตรงนั้น ต้องทำจริงๆ เพราะผมเองก็ไม่ได้มีโชคช่วยอะไร เราต้องอยู่กับลูกค้า จบงานเองให้เสร็จ ให้จบ เราถึงจะได้เงินของลูกค้ามาเป็นรายได้ ถ้าใครอยากเรียนจริงๆ ก็ต้องฝึกฝน ต้องขยัน ถ้าเราก้าวข้ามคำว่านักเรียน ไปเป็นช่างตัดผมได้ มันก็จะง่ายขึ้นครับ ระหว่างเรียน ความกดดันจะค่อนข้างเยอะ เพราะเราอยู่กับหัวคน ร้อยคนก็ร้อยหัว ร้อยแบบ ลูกค้าก็ร้อยสไตล์ ร้อยคำพูด บางคนก็ให้กำลังใจ บางคนอาจบั่นทอนจิตใจ เราต้องก้าวข้ามตรงจุดนั้นไปให้ได้ แล้วเราจะเป็นช่างที่ดีได้แน่นอนครับ”

จากจุดเล็กๆ ที่กลายเป็นความยิ่งใหญ่ในสายอาชีพ เชื่อว่า หลายคนคงสามารถนำแนวคิดของอาจารย์เด่น ไปใช้ได้ ทั้งในชีวิตประจำวัน และการทำงานช่างผม วงการที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนเสมอ ขอแค่เพียงเรามีความตั้งใจ และมุ่งมั่นในสายอาชีพอย่างแท้จริงเท่านั้น !

ร่วมสนับสนุนการสนทนา ปัตตาเลี่ยน GAMMA+
วิดิโอการสัมภาษณ์ คลิ๊ก

สนับสนุนโดย ปัตต่าเลี่ยน Gamma+
ฝากกดติดตามเพจใหม่ด้วยครับ
https://www.facebook.com/hairtoday.online/